วันจันทร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

กฎแห่งกรรมในอรรถกถาธรรมบท:เรื่องชน 3 กลุ่ม ทำกรรมไม่ดีไว้แต่อดีตชาติ และมาเสวยผลกรรมในปัจจุบัน




เรื่องนี้เป็น กฎแห่งกรรม ที่ใครไม่สามารถหลบหลีกได้ ในมิติ อปราปริยเวทนียกรรม(กรรมให้ผลในภพต่อมา) เป็นเรื่องเกิดขึ้นเมื่อคราวที่พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตะวัน ทรงปรารภชน 3 คน ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อนฺตลิกฺเข น สมุทฺทมชฺเฌ เป็นต้น

เรื่องมีอยู่ว่า มีภิกษุ 3 กลุ่มมีประสบการณ์ไปพบเห็นที่แตกต่างกัน คือ ภิกษุกลุ่มที่หนึ่ง จะเดินทางมาเข้าเฝ้าพระศาสดา ในระหว่างทางได้ไปแวะพักอยู่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ขณะที่พวกชาวบ้านกำลังตระเตรียมปรุงอาหารบิณฑบาตถวายพระสงฆ์อยู่นั้น มีบ้านหลังหนึ่งเกิดไฟไหม้ และมีเสวียนไฟ(ลักษณะเป็นวงกลม) ปลิวขึ้นสู่ท้องฟ้า และมีอีกาตัวหนึ่งบินสอดคอเข้าไปในวงเสวียนไฟตกลงมาตายที่กลางหมู่บ้าน ภิกษุทั้งหลายเห็นอีกาบินสอดคอเข้าไปในเสวียนตกลงมาตายเช่นนั้น ก็กล่าวว่า จะมีก็แต่พระศาสดาเท่านั้นที่จะทรงทราบกรรมชั่วที่ส่งผลให้อีกาตัวนี้ต้องมาประสบชะตากรรมเสียชีวิตอย่างสยดสยองครั้งนี้

ภิกษุกลุ่มที่สอง โดยสารเรือจะไปเฝ้าพระศาสดา เมื่อเรือลำนั้นเดินทางมาถึงกลางมหาสมุทร เกิดการหยุดนิ่งอยู่กับที่ พวกผู้โดยสารมากับเรือต่างปรึกษาหารือกันถึงสาเหตุที่ทำให้เรือหยุด เห็นว่าในเรือน่าจะมีคนกาลกัณณี จึงได้ทำสลากแจกให้แต่ละคนจับเพื่อค้นหาคนกาลกัณณีคนนั้น ปรากฏว่า ภรรยาของนายเรือจับได้ถึงสามครั้ง นายเรือจึงกล่าวขึ้นว่า คนทั้งหลายจะมาตายเพราะหญิงกาลกัญณีคนนี้ไม่ได้ จึงจับภรรยาของนายเรือ ใช้กระสอบทรายมัดที่คอแล้วผลักตัวลงไปในน้ำทะเล เมื่อหญิงภรรยาของนายเรือถูกจับถ่วงน้ำไปแล้ว เรือก็สามารถเคลื่อนตัวได้อย่างปาฏิหาริย์ เมื่อภิกษุเหล่านั้นเดินทางถึงจุดหมายปลายทางแล้ว ก็ขึ้นฝั่งจะเดินทางต่อไปเฝ้าพระศาสดา พระกลุ่มนี้ตั้งใจว่าจะทูลถามว่า หญิงผู้นี้ทำกรรมชั่วอะไรไว้ จึงเป็นผู้โชคร้ายถูกถ่วงน้ำจนเสียชีวิต

ภิกษุกลุ่มที่สามก็จะเดินทางมาเฝ้าพระศาสดาเหมือนกัน แต่ในระหว่างทางได้เข้าไปสอบถามพระภิกษุวัดแห่งหนึ่งว่าพอจะมีที่พักค้างแรมสักคืนในบริเวณใกล้เคียงหรือไม่ เมื่อได้รับแจ้งว่ามีถ้ำแห่งหนึ่งพอจะพักค้างแรมได้ จึงได้เดินทางไปพัก ณ ที่นั้น แต่พอถึงช่วงกลางดึกก็มีหินใหญ่ก้อนหนึ่งกลิ้งมาปิดที่ปากถ้ำ ในตอนเช้าพวกภิกษุจากวัดที่อยู่ใกล้ๆเดินทางมาที่ถ้ำ เมื่อเห็นหินใหญ่กลิ้งมาปิดอยู่ที่ปากถ้ำเช่นนั้น ก็ได้ไปตระเวนขอแรงชาวบ้านจากเจ็ดหมู่บ้านให้มาช่วยกันผลักหินก้อนนั้น แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยเหตุนี้พระภิกษุ 7 รูปจึงถูกขังอยู่ในถ้ำโดยไม่ได้ฉันอาหารฉันเป็นเวลา 7 วัน พอถึงวันที่ 7 หินใหญ่ที่ปิดปากถ้ำก็เคลื่อนตัวออกมาเองราวปาฏิหาริย์ ภิกษุกลุ่มนี้ก็ตั้งใจว่า เมื่อเดินทางไปเฝ้าพระศาสดาแล้วก็จะทูลถามว่าเป็นวิบากกรรมชั่วอะไรที่ทำให้พวกท่านต้องถูกขังอยู่ในถ้ำนานถึง 7 วันเช่นนี้

ภิกษุทั้งสามกลุ่มได้เดินทางมาพบกันระหว่างทาง จึงเดินทางไปเฝ้าพระศาสดาพร้อมกัน ภิกษุแต่ละกลุ่มก็ได้กราบทูลถึงสิ่งที่กลุ่มตนได้ประสบพบเห็นมา และพระศาสดาได้ตรัสตอบคำถามของพระภิกษุทั้งสามกลุ่มดังนี้

พระศาสดาตรัสตอบคำถามของพระภิกษุกลุ่มแรกว่า ภิกษุทั้งหลาย กานั้นได้เสวยกรรมที่ตนทำแล้วนั่นแหละโดยแท้ เรื่องมีอยู่ว่า ชาวนาผู้หนึ่งในกรุงพาราณสี ฝึกโคของตนอยู่ แต่ไม่อาจฝึกได้ ด้วยว่าโคของเขาเดินไปได้หน่อยเดียวก็นอน แม้เขาจะตีให้ลุกขึ้น ให้เดินไปได้หน่อยเดียวก็ล้มตัวลงนอนเหมือนอย่างเดิม ชาวนานั้น แม้พยายามแล้วก็ไม่สามารถฝึกโคได้สำเร็จ จึงมีความโกรธ กล่าวกับมันว่า อยากนอนนัก ก็นอนอยู่ที่นี่ ไม่ต้องไปไหนอีก ว่าแล้วก็เอาฟ่อนฟางมามัดที่คอโคแล้วจุดไฟเผา โคถูกไฟคลอกตาย ภิกษุทั้งหลาย กรรมอันเป็นบาปนั้น ชาวนานั้นกระทำแล้วในครั้งนั้น ทำให้เขาหมกไหม้อยู่ในนรกสิ้นกาลนาน เพราะวิบากของกรรมอันเป็นบาปนั้น เกิดแล้วในกำเนิดกา 7 ครั้ง ถูกไฟไหม้ตายในอากาศอย่างนี้แหละ ด้วยเศษวิบากกรรม"

พระศาสดาตรัสตอบปัญหาของพระภิกษุกลุ่มที่สองว่า ภิกษุทั้งหลาย ครั้งหนึ่งมีหญิงผู้หนึ่ง เลี้ยงสุนัขไว้ตัวหนึ่ง นางพาสุนัขตัวนี้ไปไหนมาไหนด้วย จนพวกเด็กๆเห็นพากันล้อเลียน นางทั้งโกรธและรู้สึกอับอายมากจึงได้วางแผนฆ่าสุนัขนั้น นางได้เอาหม้อมาใส่ทรายจนเต็มแล้วผูกหม้อทรายนั้นที่คอของสุนัขแล้วถ่วงสุนัขนั้นลงในน้ำ จนสุนัขนั้นจมน้ำตาย จากผลของกรรมชั่วครั้งนั้น นางตกนรกอยู่เป็นเวลานาน ในร้อยชาติสุดท้าย นางถูกมัดถ่วงด้วยกระสอบทรายที่คอก่อนจะถูกผลักลงน้ำจนเสียชีวิต


พระศาสดาตรัสตอบปัญหาของพระภิกษุกลุ่มที่สามว่า ภิกษุทั้งหลาย ครั้งหนึ่งเด็กเลี้ยงโค 7 คนเห็นเหี้ยตัวหนึ่งเดินเข้าไปในช่องจอมปลวก จึงช่วยกันปิดทางออกทั้ง 7 ช่องของจอมปลวกด้วยกิ่งไม้และก้อนดินเหนียว หลังจากปิดช่องทางไม่ให้เหี้ยออก พวกเด็กก็ต้อนโคไปเลี้ยง ณ ที่อื่น หลังจากนั้นอีกเจ็ดวัน เมื่อต้อนโคกลับมาที่เดิมจึงนึกขึ้นมาได้ และได้ไปช่วยกันเปิดช่องจอมปลวกให้เหี้ยนั้นออกมา ก็เพราะวิบากกรรมครั้งนั้น ทำให้ทั้ง 7 คนถูกขังอยู่ในถ้ำนานถึง 7 วันโดยไม่ได้รับประทานอาหารแบบนี้ ในช่วง 14 ชาติสุดท้าย

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลถามพระศาสดาว่า ผู้ซึ่งเหาะไปในอากาศก็ดี แล่นไปสู่มหาสมุทรก็ดี เข้าไปสู่ซอกแห่งภูเขาก็ดี จะไม่ทำให้สามารถรอดพ้นจากกรรมได้ ใช่หรือไม่ พระเจ้าข้าพระศาสดาตรัสว่า อย่างนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลาย ไม่ว่าจะไปอยู่ในอากาศ หรือไปอยู่ที่ใดก็ตาม ไม่มีที่ไหนๆที่บุคคลไปอยู่แล้ว จะรอดพ้นจากกรรมชั่วได้

น อนฺตลิกฺเข น สมุทฺทมชฺเฌ
น ปพฺพตานํ วิวรํ ปวิสฺส
น วิชฺชเต โส ชคติปฺปเทโส
ยตฺรฏฺฐิโต มุจเจยฺย ปาปกมฺมา.

คนที่ทำกรรมชั่วไว้ หนีไปแล้วในอากาศ
ก็ไม่พึงพ้นจากความชั่วได้
หนีไปในท่ามกลางมหาสมุทร
ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้
หนีเข้าไปสู่ซอกแห่งภูเขา
ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้
เพราะเขาอยู่แล้วในประเทศแห่งแผ่นดินใด
พึงพ้นจากกรรมชั่วได้
ประเทศแห่งแผ่นดินนั้น หามีอยู่ไม่.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ภิกษุเหล่านั้น บรรลุอริยผลทั้งหลายมีโสดาปัตติผลเป็นต้น พระธรรมเทศนามีประโยชน์แม้

กฎแห่งกรรมในอรรถกถาธรรมบท:เรื่องพระติสสเถระผู้เข้าถึงสกุลนายช่างแก้ว ทำร้ายพระอรหันต์ เมื่อตายแล้วไปตกนรก



กฎแห่งกรรม ในมิติของ อปราปริยเวทนียกรรม (กรรมให้ผลในภพต่อมา) ปรากฏให้เห็นเมื่อคราวที่พระศาสดา ประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระเถระชื่อติสสะ ผู้เข้าถึงสกุลช่างแก้ว(ใกล้ชิดกับสกุลช่างเจียระไนอัญมณี) ตรัสพระธรรมเทศนาที่ขึ้นต้นด้วยบาทพระคาถานี้ว่า คพฺภเมเก อุปฺปชฺชนฺติ เป็นต้น

เรื่องนี้ พระพุทธโฆษาจารย์ เล่าไว้ว่า ในกาลครั้งหนึ่ง ที่กรุงสาวัตถี มีนายช่างเจียระไนอัญมณีและภรรยาพักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังหนึ่ง และมีพระเถระรูปหนึ่งเป็นพระอรหันต์ ได้เข้าไปรับอาหารบิณฑบาตจากสองสามีภรรยาเป็นประจำ

อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่นายช่างกำลังหั่นเนื้ออยู่นั้น ก็มีคนจากวังของพระเจ้าปเสนทิโกศลมาที่บ้านของนายช่าง พร้อมกับนำแก้วมณีก้อนหนึ่งมาส่งให้ แล้วบอกว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งให้เจียระไนให้แล้วเสร็จแล้วส่งกลับไปถวาย นายช่างนำมือที่เปื้อนเลือดเนื้อสดๆออกรับแก้วมณีของพระราชาและนำไปวางไว้บนโต๊ะตัวหนึ่ง แล้วเข้าไปในเรือนเพื่อจะล้างมือ

นกกะเรียนที่ครอบครัวนั้นเลี้ยงไว้ในบ้านเห็นแก้วมณีที่เลือดและชิ้นเนื้อติดอยู่นั้นเข้าใจ ว่าเป็นชิ้นเนื้อ จึงจิกกลืนลงท้องไปต่อหน้าต่อตาของพระเถระ เมื่อนายช่างเดินกลับมาแล้วพบว่าแก้วมณีนั้นหายไป ก็ได้ถามภรรยาและบุตรว่าใครเอาแก้วมณีไป เมื่อคนทั้งสองปฏิเสธ นายช่างก็หันไปเรียนถามพระเถระว่าท่านเอาไปหรือไม่ พระเถระตอบว่าท่านก็ไม่ได้เอาไปเหมือนกัน

แต่นายช่างไม่เชื่อ เพราะว่าในบ้านไม่มีใครอีกแล้ว นายช่างจึงปักใจเชื่อว่าต้องเป็นพระเถระเอาแก้วมณีอันล้ำค่าของพระราชาไปแน่ๆ เขาจึงปรึกษากับภรรยาว่าเขาต้องทรมานร่างกายของพระเถระเพื่อให้ท่านรับ สารภาพให้ได้ แต่ฝ่ายภรรยาไม่เห็นด้วย พยายามห้ามปรามสามีเพราะกลัวว่าจะเป็นบาปเป็นกรรม แต่สามีไม่ยอมได้ทำการทรมานร่างกายพระเถระด้วยการเอาเชือกพันรอบศีรษะแล้วใช้ไม้ขัน จนกระทั่งว่ามีโลหิตไหลออกมาจากศีรษะ หู และจมูก

พระเถระได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส จนทรุดตัวลงนอนที่พื้นดิน ข้างนกกะเรียนได้กลิ่นเลือดจากกายของพระเถระ ก็ออกมาใช้งะงอยปากดูดกินโลหิตนั้น

นายช่างเห็นก็เลยใช้เท้าเตะไปที่นกกะเรียนอย่างรุนแรงด้วยอารมณ์โกรธ พลางปากก็สำรากถ้อยคำว่า มึงจะทำอะไรหรือ?” ผลของการเตะทำให้นกกะเรียนเสียชีวิตในทันที พระเถระเห็นนกแน่นิ่งไปเช่นนั้น จึงกล่าวขึ้นว่า อุบาสก ท่านจงผ่อนเชือกพันศีรษะของอาตมาให้หย่อน แล้วไปดูสิว่า นกมันตายแล้วหรือยัง นายช่างได้ยินก็พูดสวนกลับว่า ท่านก็จะตายเหมือนนกนี้เหมือนกัน

พระเถระตอบว่า อุบาสก  แก้วมณีนั้น นกนี้กลืนกินเข้าไปในท้อง หากนกนี้ยังไม่ตาย อาตมภาพแม้จะตาย ก็จะไม่บอกเรื่องนี้กับท่านนายช่างได้ใช้มีดแหวะท้องนกกะเรียนก็พบแก้วมณีอยู่ในนั้นจริงๆ เลยเกิดการช็อกสังเวชสลดใจ ก้มลงกราบพระเถระและกล่าวขอขมาลาโทษท่านว่า ขอพระคุณเจ้าจงยกโทษให้ผมด้วยเถิด ผมทำอะไรลงไปกับท่านด้วยการรู้เท่าไม่ถึงการณ์

พระเถระตอบว่า อุบาสก ท่านไม่มีโทษหรอก อาตมาก็ไม่มีโทษเหมือนกัน มีแต่โทษของวัฏฏะ (เป็นเรื่องกรรมเวร) อาตมภาพยกโทษให้ท่าน นายช่างเมื่อได้ยินเช่นนั้นจึงพูดว่า ท่านครับ เมื่อท่านยกโทษให้ผมแล้ว ก็ขอนิมนต์ท่านมารับบิณฑบาตในบ้านของผมเหมือนเดิมเถิด

พระเถระ กล่าวว่าท่านจะไม่เข้ามารับบิณฑบาตในบ้านของนายช่างอีกต่อไป เพราะที่เกิดเรื่องนี้ขึ้นก็ด้วยสาเหตุท่านเข้ามารับบิณฑบาตในบ้านของชาวบ้าน ท่านมีใจแน่วแน่ที่จะสมาทานธุดงควัตรอย่างเคร่งครัดด้วยกล่าวปฏิญาณว่า ตั้งแต่นี้ไป เมื่อเท้าทั้งสองยังเดินไปได้ เราจักยืนที่ประตูเรือนรับภิกษาเท่านั้นครั้นต่อมาไม่นาน พระเถระก็ปรินิพพาน(มรณภาพ) ด้วยพิษบาดแผลจากการถูกทรมานนั้น

ต่อมา พระภิกษุทั้งหลายได้ทูลถามถึงที่เกิดของบุคคลต่างๆในเรื่อง พระศาสดาตรัสถึง กฎแห่กรรม ที่จะตามสนองแต่ละชีวิตในเรื่องนี้ว่า นกกะเรียนกลับมาเกิดเป็นบุตรชายของนายช่าง นายช่างไปเกิดในนรก ภรรยานายช่างตายแล้วไปเกิดในเทวโลก เพราะมีจิตใจอ่อนโยนในพระเถระ ส่วนพระเถระ เป็นพระอรหันต์ ก็ปรินิพพาน

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า

คพฺภเมเก อุปฺปชฺชนฺติ
นิรยํ ปาปกมฺมิโน
สคฺคํ สุคติโน ยนฺติ
ปรินิพฺพนฺติ อนาสวา.

ชนทั้งหลายบางพวก ย่อมเข้าถึงครรภ์(เกิดเป็นมนุษย์)
ผู้มีกรรมลามก ย่อมเข้าถึงนรก
ผู้มีกรรมเป็นเหตุแห่งสุคติ ย่อมไปสวรรค์
ผู้ไม่มีอาสวะ ย่อมปรินิพพาน.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.

กฎแห่งกรรมในอรรถกถาธรรมบท:เรื่องนายพรานสุนัขชื่อโกกะ ให้สุนัขไล่กัดพระภิกษุ กรรมสนอง ตัวเองถูกสุนัขกัดตาย



เรื่องกฎแห่งกรรม ข้อ ให้ผลทันตาเห็น (ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม) เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระศาสดา ประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภนายพรานชื่อว่าโกกะ ตรัสพระธรรมเทศนาที่ขึ้นต้นด้วยบาทพระคาถานี้ว่าโย อปฺปทุฏฺฐสฺส นรสฺส ทุสฺสติ
 เป็นต้น

พระพุทธโฆษาจารย์ เล่าเรื่องนี้ไว้ว่า  เช้าวันหนึ่ง นายพรานชื่อโกกะ พร้อมด้วยสุนัขล่าสัตว์ฝูงหนึ่งจะออกไปล่าสัตว์ ได้ไปพบพระภิกษุรูปหนึ่งกำลังเดินสวนทางเข้าเมืองเพื่อจะไปบิณฑบาต พอเห็นพระภิกษุเท่านั้นนายพรานโกกะก็คิดว่าเป็นลางไม่ดีและพึมพำกับตัวเอง ว่า วันนี้เราพบคนกาลกัณณีเข้าแล้ว เห็นทีเที่ยวนี้เราจะไม่ได้สิ่งใดแน่ ๆคิดพลางเดินเข้าป่าไป

เมื่อนายพรานโกกะเข้าป่าไปก็ไม่ได้อะไรเหมือนที่คิดไว้แต่แรก พอกลับมาเจอพระภิกษุรูปเดียวกันนั้นอีกในขณะที่ท่านเดินกลับวัด ก็ได้เข้าไปต่อว่าต่อขานพระว่า ที่เขาเข้าป่าไปล่าสัตว์แต่ไม่ได้อะไรสักอย่างกลับออกมาเช่นนี้ก็เพราะพระ เป็นต้นเหตุ นายพรานโกกะจึงส่งสัญญาณให้สุนัขให้เข้ารุมกัดพระ

ฝ่ายพระพยายามร้องห้ามแต่นายพรานโกกะก็ไม่ฟังความ พระเห็นท่าไม่ดีก็เลยรีบปีนขึ้นต้นไม้เพื่อให้รอดพ้นจากการถูกรุมกัดของสุนัข นายพรานโกกะได้เดินไปที่ใต้ต้นไม้ต้นนั้น แล้วใช้ลูกธนูทิ่มแทงที่เท้าของพระภิกษุเพื่อให้ลงจากต้นไม้

พระพยายามยกเท้าสลับข้างไปมาเพื่อหนีจากการถูกทิ่มแทงด้วยลูกธนูเป็นพัลวัน จนจีวรพลัดหลุดออกจากกายของพระ ตกลงมาคลุมที่ร่างกายของนายพรานโกกะที่ยืนอยู่ใต้ต้นไม้ พวกสุนัขเข้าใจผิดคิดว่าพระตกลงมาจากต้นไม้จึงรุมกันคนที่จีวรคลุมตัวอยู่ นั้นซึ่งก็คือนายพรานโกกะเสียชีวิตและช่วยกันแทะกินเหลืออยู่เพียงกระดูก

พอถึงตอนนี้ พระจึงหักกิ่งไม้แห้งกิ่งหนึ่งขว้างมาที่สุนัขเหล่านั้น พอพวกสุนัขเห็นพระก็เลยรู้ว่า พวกมันกัดกินเจ้านายของมันเสียแล้ว จึงหลบหนีเข้าป่าไป ส่วนพระเกิดความสงสัยว่า นายพรานเข้าไปอยู่ในจีวรของเราแล้วถูกสุนัขกัดตายเช่นนี้ ศีลของเราจะด่างพร้อยหรือไม่ ?”

พอลงจากต้นไม้ก็เดินทางไปสู่สำนักของพระศาสดา กราบทูลเรื่องราวที่เกิดขึ้น และทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุบาสกนั้น อาศัยจีวรของข้าพระองค์จนเสียชีวิตไปแล้ว ศีลของข้าพระองค์จะด่างพร้อยหรือไม่?”

พระศาสดาตรัสตอบว่า ภิกษุ ศีลของเธอไม่ด่างพร้อย สมณภาพของเธอยังมีอยู่ เขาประทุษร้าย ต่อเธอผู้ไม่ประทุษร้าย จึงถึงความพินาศ ทั้งนี้มิใช่แต่ในบัดนี้อย่างเดียวเท่านั้น แม้ในอดีตกาล เขาก็ประทุษร้ายต่อผู้ไม่ประทุษร้ายทั้งหลาย ถึงความพินาศแล้วเหมือนกันและได้ทรงนำเรื่องในอดีตมาเล่าว่า

นายพรานโกกะผู้นี้ในอดีตชาติเคยเกิดเป็นนายแพทย์ วันหนึ่งเดินตระเวนไปตามหมู่บ้านต่างๆ แต่หาคนไข้รักษาไม่ได้ ถูกความหิวโหยครอบงำ ไปพบพวกเด็กๆกำลังเล่นกันอยู่ที่ประตูบ้านหลังหนึ่ง จึงคิดอุบายจะให้งูกัดเด็กเหล่านั้น จากนั้นตนก็จะทำการรักษาเด็กที่ถูกงูกัดนั้น แล้วนำเงินค่ารักษาไปซื้ออาหารรับประทาน

นายแพทย์จึงได้นำงูไปไว้ ในโพลงไม้แล้วหลอกพวกเด็กๆว่าในโพลงไม้มีลูกนกสาลิกา เด็กคนหนึ่งหลงกลปีนขึ้นต้นไม้ เอามือล้วงเข้าไปในโพลงไม้ พอรู้ว่าเป็นงูไม่ใช่ลูกนกสาลิกา ได้สลัดงูออกออกจากมือตกลงมาถูกที่ศีรษะของนายแพทย์ซึ่งยืนอยู่ไม่ไกล งูรัดคอของนายแพทย์แล้วกัดอย่างแรงจนนายแพทย์ถึงแก่ความตาย

นายแพทย์ ที่เคยประทุษร้ายต่อคนผู้ไม่ประทุษร้ายแล้วถึงความพินาศในครั้งนั้น ก็คือนายโกกะพรานสุนัขในบัดนี้นี่เอง

เมื่อพระศาสดาทรงนำอดีตนิทานนี้มาเล่าแล้ว จึงตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า

โย อปฺปทุฏฺฐสฺส นรสฺส ทุสฺสติ
สุทธสฺส โปสสฺส อนงฺคณสฺส
ตเมว พาลํ ปจฺเจติ ปาปํ
สุขุโม รโช ปฏิวาตํว ขิตฺโตฯ


ผู้ใด ประทุษร้ายต่อนรชนผู้ไม่ประทุษร้าย
ผู้บริสุทธิ์ ไม่มีกิเลส
บาปย่อมกลับถึงผู้นั้น ซึ่งเป็นคนพาลนั้นเอง
เหมือนธุลีอันละเอียดที่เขาซัดทวนลมไป ฉะนั้น.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ภิกษุนั้น ดำรงอยู่ในพระอรหัตตผล พระธรรมเทศนา ได้มีประโยชน์แม้แก่พุทธบริษัทผู้มาประชุมกัน.